วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ลักษณะเด่นของวรรณคดีไทย

        นับจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นต้นมา ได้มีการแต่งวรรณกรรมไทยต่อเนื่องกันมาไม่ขาดสาย วรรณกรรมที่แต่งกันมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ล้วนเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาแบบไทย กล่าวคือ มีกระบวนการคิด กระบวนการแต่งเรื่องเป็นแบบไทยโดยที่ยังไม่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก

        วรรณกรรมไทยนับแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาจะปรากฏอิทธิพลของชาติตะวันตกอยู่ด้วย

       ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เราใช้คำ “วรรณคดี” ในความหมายว่า หนังสือเก่าที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดีมีวรรณศิลป์ มีคุณค่า ใช้เป็นแบบอย่างหรือแบบแผนได้ เช่นบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดแห่งบทละครรำ พระอภัยมณีของสุนทรภู่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของนิทานคำกลอน เป็นต้น

       หนังสือเหล่านี้คนไทยได้อ่าน ได้เล่าและได้ศึกษาสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุจนเป็นเสมือนทรัพย์มรดกสำคัญของคนทั้งชาติ บางคนจึงเรียกวรรณคดีเหล่านี้ว่าเป็น “วรรณคดีมรดก”

       วรรณคดีไทยเป็นหนังสือคู่บ้านคู่เมืองที่คนไทยทุกคนควรรู้จัก และควรอ่าน เพื่อให้เข้าใจรากเหง้าวัฒนธรรมของเรา เนื่องจากวรรณคดีไทยสะท้อนให้เห็นลักษณะความไทยแบบเดิมที่สืบเนื่องกันมานานนับศตวรรษ การรู้จักรากที่มาของวัฒนธรรมไทยจะทำให้เราได้ไตร่ตรองตรวจสอบข้อดี ข้อเสียของวัฒนธรรมเดิม เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขอันจะทำให้เราสามารถสืบทอดความเป็นไทยต่อไปได้อย่างเหมาะสมและอย่างภาคภูมิใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น